การวัดอุณหภูมิความไว้วางใจในองค์กรของคุณ

การวัดความเข้าใจเรื่องความไว้วางใจของพนักงานในองค์กร และผลสำรวจที่ได้ จะสนับสนุนให้องค์กรมีวัฒนธรรมความไว้วางใจสูงขึ้น

No comments

หลายบทความก่อนหน้านี้ ผมพูดถึงความไว้วางใจ ซึ่งเป็นคุณลักษณะหลักในการเป็นผู้นำ ในบทความนี้ผมจะนำเสนอเครื่องมือวัดระดับความเข้าใจเรื่องความไว้วางใจในองค์กร แบบสอบถามชุดนี้จะทำให้เห็นภาพรวมเกี่ยวกับความเข้าใจในเรื่องความไว้วางใจแบบ 360 องศา ด้วยการให้ผู้ตอบแบบสอบถามประเมินตัวเอง เพื่อนร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา (ลูกน้อง) และเจ้านาย แบบสอบถามแบ่งออกเป็น 6 ส่วน ซึ่งในแต่ละส่วนมีคำถาม 12 ข้อนั้น จะประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้ คือ บุคลิกภาพ การดูแลและช่วยเหลือกันและกัน การแก้ปัญหา ความเชี่ยวชาญในงาน การสื่อสาร และความไว้วางใจในเรื่องทั่วไป อย่างไรก็ดี แต่ละองค์กรสามารถปรับแบบสอบถามให้ตรงกับความต้องการของตัวเองได้ อย่างเช่น เน้นส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นพิเศษ เป็นต้น การสำรวจนี้จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการทำงานในองค์กรของคุณได้เหมือนกับการอ่านเครื่องวัดในเครื่องบิน เมื่อเข็มชี้ไปที่บริเวณที่อาจมีความผิดปกติ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในโซนสีแดงนั้นจะเป็นการบ่งชี้ว่ามีปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข คุณอาจพบว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือวิธีการเป็นผู้นำสามารถปรับปรุงให้องค์กรของคุณดีขึ้น และทำให้การบินราบรื่นขึ้น

kc135gauges
เครื่องวัดของเครื่องบินเคซี-135อาร์ชี้บริเวณที่มีความผิดปกติและอาจต้องการแก้ไข รูปของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ถ่ายโดยจ่าอากาศโท โอมาริ เบอร์นาร์ด

ทำไมต้องใช้เครื่องมือนี้?

คุณต้องการให้ความไว้วางใจและความร่วมมือเกิดขึ้นในองค์กรของคุณหรือไม่? คุณต้องการลดกิจกรรมไร้ประสิทธิภาพที่เกิดจากความไม่ไว้วางใจระหว่างบุคคลหรือทีม เช่น การเสียพลังงานไปกับการระวังตัวเมื่อต้องร่วมงานกับเพื่อนร่วมงานที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือเมื่อต้องสื่อสารกันแบบมีวาระซ่อนเร้น หรือไม่? ก่อนจะเริ่มก้าวแรกเพื่อเดินไปสู่เป้าหมาย คุณจำเป็นต้องรู้ก่อนว่าคุณอยู่ตรงจุดไหน แล้วแบบสำรวจนี้จะเป็นตัวช่วยนำทางไปถึงจุดหมายให้กับคุณ การสำรวจองค์กรมีประโยชน์หลายประการด้วยกัน อันดับแรกคือช่วยให้เห็นภาพทัศนคติของพนักงานในเชิงวิทยาศาสตร์และเป็นกลางมากกว่าหลักฐานที่เป็นเรื่องเล่าบอกต่อกันมาหรือคำบ่นก่นนินทาของใครบางคนในห้องกาแฟ ทั้งนี้ อาจต้องมีการตีความคำตอบ ซึ่งมีให้เลือกตั้งแต่ “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง” ไปจนถึง “เห็นด้วยอย่างยิ่ง” แต่การมีภาพรวมที่เป็นปัจจุบันก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แบบสอบถามนี้จะมีประโยชน์มากยิ่งขึ้นเมื่อทำการสำรวจในช่วงเวลาปกติ จากนั้นให้สังเกตว่า “เข็มมีการเคลื่อนที่” หรือไม่หลังนำแนวทางปรับปรุงความไว้วางใจซึ่งกันและกันมาใช้ในองค์กร อันดับที่สอง เมื่อมีการเผยแพร่ผลการสำรวจ มีการอภิปรายและนำไปใช้ในการปรับปรุงวัฒนธรรมองค์กร การรับฟังและตอบสนองแบบนี้ ถือเป็นกระบวนการสร้างความเชื่อใจกันและกันไปในตัว ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือนี้เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

จะใช้เครื่องมือนี้อย่างไร

การจัดการอย่างถูกต้องและการติดตามผลลัพธ์มีความสำคัญอย่างมากในการตัดสินว่าแบบสำรวจมีประสิทธิภาพเพียงใด ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามต้องมีเวลาทำแบบสอบถาม ไม่ต้องกังวลกับงานที่ทำ ไม่กินเวลาส่วนตัว และที่สำคัญ คือ มีการรับรองว่าจะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของพวกเขา คุณสามารถอัพโหลดแบบสำรวจไปไว้ในเวบไซต์ อย่าง https://www.surveymonkey.com หรือ http://www.zoomerang.com หรือจะใช้วิธีการก๊อปปี้ชุดแบบสอบถามก็ได้ การสำรวจออนไลน์อาจใช้ความรู้และกินเวลาในการติดตั้งนิดหน่อย แต่จะง่ายต่อการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล อย่างไรก็ดี นอกจากต้องมีคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตแล้ว ผู้ตอบแบบสอบถามจำเป็นต้องใช้งานเป็นด้วย การสำรวจด้วยกระดาษทำได้ง่ายแค่ก๊อปปี้และแจกให้กับผู้ตอบแบบสอบถามได้เลย สำหรับในที่ทำงานสามารถแจกแบบสอบถามให้ผู้ตอบแบบสอบถามในเวลาที่กำหนด ซึ่งช่วยรับประกันเรื่องอัตราการตอบแบบสอบถามและเป็นการให้ความสำคัญกับกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับเลือกให้ร่วมตอบแบบสอบถาม ในทางกลับกัน การสำรวจด้วยกระดาษจะเสียเวลาไปกับการคำนวณและป้อนข้อมูลเข้าไปในโปรแกรมวิเคราะห์ เช่น เอ็กเซล เป็นต้น วิธีการหนึ่งที่จะสร้างความมั่นใจเรื่องการไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของผู้ตอบแบบสอบถามรวมถึงคำตอบต่างๆ คือ ให้คนภายนอกองค์กรบริหารจัดการ ช่วยวิเคราะห์ และอำนวยความสะดวกในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรที่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกันต่ำ การใช้บุคคลที่สามที่เป็นกลางจะช่วยให้กระบวนการสร้างวัฒนธรรมที่มีความไว้วางใจสูงเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น

เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการวัดอุณหภูมิความไว้วางใจในองค์กร คุณต้องติดตามผลอย่างใกล้ชิด แม้ว่าอาจจะดูเหมือนข่าวร้าย และควรมีการเผยแพร่และกล่าวถึงผลการสำรวจในเวลาและสถานที่ที่เหมาะสม หากพบว่ามีแผนกใดไม่มีความไว้วางใจกันและกัน ไม่เอาใจดูแลกัน มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร รวมถึงในเรื่องอื่นๆ ควรจัดทีมงานวิเคราะห์หาสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหาในทันที การแก้ปัญหายากๆอย่างเป็นรูปธรรมจะทำให้เข็มความไว้วางใจของพนักงานชี้ขึ้นเพราะพวกเขาเห็นการตอบสนองของผู้นำ ข้างล่างนี้เป็นตัวอย่างแบบสำรวจอุณหภูมิความไว้วางใจของผม คุณสามารถแสดงความเห็นเกี่ยวกับการใช้งานเครื่องมือตัวนี้ได้ สำหรับในบทความต่อไป ผมจะพูดถึงส่วนประกอบของคุณลักษณะและคุณสมบัติของความไว้วางใจ รวมถึงพฤติกรรมของผู้นำที่จะช่วยสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นในองค์กร

แบบสำรวจอุณหภูมิความไว้วางใจ

วัตถุประสงค์ : เพื่อประเมินระดับความไว้วางใจในที่ทำงานของตัวคุณเอง เพื่อนร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา เจ้านาย และผู้บริหารของบริษัท ผลลัพธ์จะช่วยให้เราเข้าใจว่าทุกคนคิดว่าในปัจจุบันองค์กรมีความไว้วางใจในระดับไหน และเห็นปัญหาที่จะต้องแก้ไข

ความหมาย : เพื่อนร่วมงาน หมายถึงผู้ที่ทำงานในแผนกเดียวกันหรือต่างแผนกก็ได้ และไม่ใช่ผู้ใต้บังคับบัญชา เจ้านาย หรือฝ่ายบริหารระดับสูง ส่วนผู้ใต้บังคับบัญชา หมายถึง ผู้ที่คุณต้องดูแลให้คำปรึกษา

โปรดกาเครื่องหมาย “X” ลงในช่องที่ตรงกับคำตอบของคุณ

SurveyTrust1

SurveyTrust2SurveyTrust3

SurveyTrust4

SurveyTrust5

SurveyTest6

แปลและเรียบเรียง : อาริยะ ชิตวงค์

Copyright © 2017 by Robert Cummings All rights reserved.

Leave a Reply