การบำรุงรักษารากของความไว้วางใจ : 2 วิธีปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างความซื่อตรง

ความไว้วางใจเปรียบเหมือนป่า ที่ต้องใช้เวลาหลายปีในการบำรุงดูแลรักษาให้มีความอุดมสมบูรณ์ แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับการดูแลอย่างจริงจัง ขณะที่ความซื่อตรงเป็นรากฐานของความไว้วางใจ และสร้างได้ด้วยกิจกรรมที่ทำได้จริงเหล่านี้

No comments

1009smokey4

“มีแต่พวกคุณเท่านั้นที่จะป้องกันการเกิดไฟป่าได้” ประโยคสั้นๆง่ายๆของสโมคกี้ แบร์ประโยคนี้ เป็นหนึ่งในเคมเปญบริการสาธารณะที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา นับจากเวลาที่เคมเปญเริ่มต้นขึ้นในปี 2487 (ปีแรกที่มีแบมบี้ตัวการ์ตูนจากดิสนีย์)  ซึ่งพื้นที่ป่าลดลงเนื่องจากไฟฟ้า จากปีละ 22 ล้านเหลือ 6.5 ล้าน

สโมคกี้กลายเป็นไอคอนทางวัฒนธรรมที่เน้นความรับผิดชอบของบุคคลให้ช่วยกันปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ คำแนะนำของสโมคกี้สามารถนำไปปรับใช้กับความไว้วางใจได้เป็นอย่างดี “เพียงคุณเท่านั้นที่จะช่วยป้องกันการทำลายความไว้ววางใจได้!” ความไว้วางใจเปรียบเหมือนกับผืนป่าที่ต้องใช้ทั้งความพยายามและเวลาในการปลูก บำรุงดูแลรักษา เพื่อรอเวลาให้ผลผลิต แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะไม่รับการดูแลรักษา อย่างไรก็ตาม โชคดีที่แม้แต่ผืนป่าที่ถูกไฟเผาก็ยังสามารถปลูกขึ้นมาใหม่ได้ เช่นเดียวกับความไว้วางใจที่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ และแน่นอนว่าย่อมดีกว่าถ้าเราสามารถเลี่ยงการกระทำที่นำไปสู่การทำลายได้ ทั้งนี้ ด้วยความรับผิดชอบและการลงมือทำของแต่ละคน นอกจากจะช่วยป้องกันการเผาทำลายความไว้วางใจได้ แล้วยังสามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจขึ้นมาใหม่ได้ด้วย

ผมได้พูดถึงแนวคิดเรื่องการเปรียบความไว้วางใจเป็นต้นไม้ของสตีเฟน เอ็ม. อาร์. โควีย์ ไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้ โดยในส่วนของรากจะเป็นคุณลักษณะ ที่ประกอบด้วยความซื่อตรงและความตั้งใจ ซึ่งสามารถสร้างความไว้วางใจขึ้นมาได้ด้วยความสามารถ (capability) และผลลัพธ์ (result) ในบทความนี้เราจะลงลึกในส่วนของราก โดยพูดถึง 2 วิธีการที่จะช่วยเสริมสร้างความซื่อตรงของเราให้แข็งแรง

TreeIllustration
ภาพต้นไม้จากหนังสือพลานุภาพแห่งความไว้วางใจของสตีเฟน เอ็ม. อาร์. โควีย์

ความซื่อตรง

คำว่า “ความซื่อตรง”  มาจากรากศัพท์ภาษาละตินที่มีความหมายว่า “ทั้งหมด” หรือ “สมบูรณ์” เมื่อเราพูดถึง “ความสมบูรณ์”ของเรือ เราหมายถึงการที่เรือมีคุณสมบัติสามารถออกเดินทะเล กล่าวคือ ไม่มีโครงสร้างส่วนใดเสียหาย ไร้รอยรั่ว เป็นเรือในแบบที่มีความพร้อมที่จะออกไปทำหน้าที่เดินทะเล

เมื่อเราพูดถึง”ความซื่อตรง”ของบุคคล ส่วนใหญ่จะหมายถึงการซื่อสัตย์ แต่ความซื่อตรงในบริบทของความสมบูรณ์หรือความครบถ้วนนั้นเป็นแนวคิดที่ใหญ่กว่าการซื่อสัตย์มาก เหมือนกับการที่เราต้องอาศัยความสมบูรณ์แบบของเรือเพื่อให้ลอยอยู่เหนือพื้นน้ำได้ ซึ่งเราพึ่งพาความซื่อตรงของคนอื่นว่าเขาจะเป็นคนแบบที่เขาพูดไว้ นอกจากนี้ยังรวมถึงแนวคิดที่ว่าบุคคลจะพูดและทำตามค่านิยมของตัวเองเสมอ ในหนังสือ 7 อุปนิสัยสำหรับผู้ทรงประสิทธิภาพยิ่ง สตีเฟน อาร์. โควีย์ พ่อของสตีเฟน กล่าวไว้ว่า “ความสมบูรณ์แบบ…เป็นแบบนี้ : คุณปฏิบัติกับทุกคนด้วยหลักการเดียวกัน” และใช้หลักการเดียวกันนี้กับตัวเองด้วย

สิ่งที่ไม่ทำ

เลี่ยง

  • สองมาตรฐานทั้งกับตัวเองและลูกน้อง
  • การเลือกปฏิบัติ โดยขึ้นอยู่กับสถานะความสัมพันธ์
  • เลือกเฉพาะคนที่สนิทด้วย

ผู้นำบั่นทอนความซื่อตรงของตัวเองด้วยวิธีใดบ้าง? เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ง่ายมากในองค์กร เพียงแค่มีใครซักคนหนึ่งลุกขึ้นมาแล้วคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะใช้ประโยชน์สิทธิพิเศษจากการเป็นเจ้านาย และใช้สองมาตรฐานกับลูกน้อง ตัวอย่างเช่น เจ้านายคิดว่าพวกเขามีสิทธิพิเศษที่จะเข้างานสายได้ ใช้เวลารับประทานอาหารเที่ยงนานกว่าคนอื่นได้ หรือมีเส้นตายเรื่องงานที่ “ยืดหยุ่น” ขณะที่เข้มงวดกับลูกน้อง รวมถึงการเลือกปฏิบัติโดยขึ้นอยู่กับสถานะความสัมพันธ์ พวกเขาอาจสุภาพกับคนที่มีสถานะสูงกว่าแต่หยาบคายกับคนอื่น

เราสามารถประเมินความซื่อตรงของผู้คนได้จากการสังเกตวิธีการที่พวกเขาปฏิบัติกับผู้ที่ทำประโยชน์ให้พวกเขากับผู้ที่ไม่มีประโยชน์ให้ อีกหนึ่งวิธีที่ฆ่าความซื่อตรงในตัวคนได้ คือ การแสดงออกถึงความลำเอียงกับกลุ่มคนที่ตนสนิทด้วย ผมเคยทำงานในหลายฝูงบินที่มีความเป็นก๊กเป็นเหล่าอย่างชัดเจน กล่าวคือ กลุ่มของลูกเรือที่สนิทสนมกันเป็นพิเศษ และเป็นคนโปรดของเจ้านายที่คนอื่นๆไม่ปลื้ม ทั้งนี้ ปรากฏว่ามีลูกเรือหลายคนที่เจ้านายเลือกปฏิบัติเป็น “คนใน”กลุ่ม กับลูกเรือที่เป็น“คนนอก” กลุ่ม เมื่อการกระทำสวนทางกับหลักการ อย่าง ความเป็นธรรม ความซื่อตรงก็จะหายไป หากแต่มีวิธีการที่เป็นรูปธรรมที่เราสามารถปรับใช้เพื่อรักษาความซื่อตรงได้

favourtism
การเลือกปฏิบัติทำลายความสมบูรณ์ของหลักการและการกระทำ

2 วิธีการสร้างความซื่อตรง

  1. กำหนดหลักการของคุณ

เนื่องจากความซื่อตรงประกอบด้วยการแสดงออกอย่างต่อเนื่องตามค่านิยมของเรา ดังนั้น ขั้นตอนแรกควรมีการกำหนดหลักการของเราอย่างชัดเจน

ไม่ว่าเราจะเป็นคนกำหนดหรือไม่ก็ตาม เราล้วนมีความเชื่อและค่านิยมเป็นตัวชี้นำพฤติกรรมประจำวันกันทุกคน วิธีง่ายๆในการระบุค่านิยม คือ การดูว่าเราใช้เวลาอย่างไร เราเลือกการดูซีรีส์บนเน็ตฟลิกมากกว่าการล้างจานมื้อเย็น หรือพัฒนาทักษะบางอย่างของตัวเองหรือเปล่า? เราอ่านฟีดข่าวบนมือถือระหว่างประชุมแทนที่การตั้งใจฟังเพื่อนร่วมงานพรีเซนต์หรือไม่? ค่านิยมพื้นฐานของเรามีอิทธิพลต่อพฤติกรรมในชีวิตประจำวันมากที่สุด เราจึงต้องกำหนดค่านิยมเหล่านั้นอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตัวเราเอง คุณลักษณะที่ดีเริ่มต้นด้วยการตรวจสอบความเชื่อ ค่านิยม และพฤติกรรมของตัวเอง ทั้งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และอยากให้เป็น

ถ้าผู้เขียนชีวประวัติต้องการบันทึกตำนานของคุณในหนึ่งย่อหน้า เธอจะเขียนว่าอย่างไร? คุณอยากให้ผู้คนจดจำคุณลักษณะและพฤติกรรมของคุณแบบไหน? ในหนังสือ 7 อุปนิสัยสำหรับผู้ทรงประสิทธิภาพยิ่ง ดร. โควีย์ใช้เทคนิคเมื่อพูดถึงอุปนิสัยที่สอง “เริ่มต้นด้วยสิ่งสุดท้ายที่อยู่ในใจ” โดยให้ผู้อ่านจินตนาการถึงงานศพของตัวเอง และคิดว่าครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน และคนอื่น จะพูดถึงคุณว่าอย่างไร ประเด็น คือ ใช้ความคิดนี้ตรวจสอบชีวิตของคุณในฐานะคนนอกที่มองเข้าไป เพื่อช่วยสร้างหลักในการใช้ชีวิตและทำงาน พวกเราหลายคนทำงานให้กับบริษัทที่กล่าวถึงค่านิยมของบริษัทไว้ในพันธกิจและปณิธาน ซึ่งใส่ไว้ในเวบไซต์ และติดไว้ทั่วบริษัท มีพวกเรากี่คนที่ใช้เวลาทำแบบเดียวกันเพื่อชีวิตส่วนตัวของพวกเราเอง

ChevronValues
หลายบริษัท อาทิ เชฟรอนเปิดเผยค่านิยมของบริษัทต่อสาธารณชน คุณเคยเขียนค่านิยมส่วนตัวของตัวเองหรือไม่?

กิจกรรม: เขียนแนวทางสำหรับชีวิตของส่วนตัวของคุณเอง

สิ่งที่ต้องทำ: ทำรายการและอธิบายหลักการพื้นฐานที่ต้องใช้เพื่อเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตประจำวัน

เคล็ดลับในการทำ

  1. พิจารณาว่าคนจะจดจำคุณอย่างไรหลังจากที่คุณเสียชีวิตไปแล้ว
    1. คุณอยากให้คนจำบุคลิกไหนของคุณ?
    2. คุณต้องการให้คนจำสิ่งที่คุณทำให้กับครอบครัว เพื่อน และสังคมในเรื่องใดบ้าง?
    3. ความสำเร็จในชีวิตเรื่องใดที่คุณอยากให้คนอื่นนึกถึง?
  2. นี้ไม่ใช่เป้าหมาย แต่เป็นหลักในการใช้ชีวิตเพื่อเติมเต็มวัตถุประสงค์และบรรลุเป้าหมายของคุณ
  3. คุณสามารถใช้ข้อความ คำพูดสร้างแรงบันดาลใจ หรือแหล่งข้อมูลเรื่องจิตวิญญาณ
  4. ตั้งใจนำหลักในการใช้ชีวิตเหล่านี้ในการปรับปรุงพฤติกรรมของตัวเอง
  5. ใช้คำกิริยาที่แสดงการกระทำ

ตัวอย่าง :

ผมจะ…

ทุ่มสุดตัว มุ่งมั่นที่จะเป็นเลิศในทุกอย่างที่ผมทำ

รักษาความซื่อสัตย์เสมอ ซื่อสัตย์ต่อตัวเองและคนอื่น

เคารพคนอื่น ปฏิบัติต่อทุกคนด้วยความเคารพแบบไม่เกี่ยงสถานะทางสังคมหรือเศรษฐกิจ

เห็นอกเห็นใจ มองโลกแบบที่คนอื่นมอง เข้าใจและช่วยเหลือคนอื่นเท่าที่สามารถช่วยได้

มีส่วนร่วมในการบรรลุศักยภาพ ช่วยคนอื่นให้เข้าถึงศักยภาพที่พระเจ้าประทานให้ เป็นแรงผลักดันให้ผู้คนและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น

มีความกล้าหาญ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ดูแลและรับผิดชอบสิ่งที่ผมสามารถควบคุมได้

อดทน อดทนกับตัวเอง คนอื่นและความท้าทายในชีวิต รับรู้และยอมรับสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของผมอย่างสงบและซาบซึ้ง

แสวงหาภูมิปัญญา เสาะหาภูมิปัญญาอย่างไม่ลดละ พึ่งพาพระเจ้าและความหลักแหลมของพระองค์เพื่อให้รู้วิธีการคิดและกระทำที่ถูกต้องในแต่ละสถานการณ์

ลงมือทำด้วยตัวเอง ไม่เอาสิ่งที่ผมไม่ได้ทำ และไม่เอาเปรียบผู้อื่น

ฝึกความอ่อนน้อมถ่อมตน อย่าคิดหรือทำสิ่งที่เป็นของพระเจ้าเท่านั้น ไม่ตัดสินคนอื่น ไม่แก้แค้น

มนุษยสัมพันธ์ดี สร้างเพื่อนด้วยการเป็นเพื่อน

ให้ความสำคัญกับวัตถุอย่างเป็นกลาง ไม่เสียน้ำตาให้กับสิ่งที่ไม่สามารถร้องไห้ให้กับคุณได้ ดูแลทรัพย์สินเป็นอย่างดีและไม่สุรุ่ยสุร่าย แต่ไม่ปล่อยให้ทรัพย์สินมีความสำคัญมากกว่าคน

แข็งแกร่งทว่าอ่อนโยน มีหนังที่ทนทานและหัวใจที่อ่อนโยน ไม่ปล่อยให้สิ่งที่คนอื่นคิดส่งผลด้านลบกับผม และไม่ไร้เดียงสาต่อความหวังร้ายของคนอื่น แต่จงพร้อมที่จะรักและให้อภัย

วางแผน ทบทวน และปรับปรุง มีความรับผิดชอบในการวางแผนชีวิตของผมเอง หลีกเลี่ยงการผัดวันประกันพรุ่ง หรือเสียเวลา, ความสามารถ หรือทรัพยากร วิเคราะห์ทุกความพยายามและทำความเข้าใจบทเรียนจากความสำเร็จและล้มเหลวในแต่ละครั้งอย่างลึกซึ้ง ปรับปรุงตัวเองอย่างต่อเนื่อง

ดูแลตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ รักษาสมดุลชีวิตเพื่อจิตวิญญาณ จิตใจ อารมณ์และร่างกาย รวมทั้งหมั่นออกกำลังกายในแต่ละส่วนอยู่เสมอ

สร้างสรรค์และเรียนรู้ ตื่นตัวในการสร้างและเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้มากกว่าความบันเทิง

ขอบคุณทุกสิ่ง

เราควรทบทวนหลักการเป็นประจำ เพื่อให้สามารถ “ทำสิ่งที่พูด” ได้สำเร็จ เราจำเป็นต้องจัดให้ค่านิยมมี “ความสำคัญที่สุดในระบบการคิดของเรา” หลักการ คือ มุ่งเน้นไปที่สิ่งที่เราปรารถนาจะเป็น ไม่ใช่สิ่งที่เราทำสำเร็จแล้ว เราต้องไม่ท้อแท้เมื่อไม่สามารถปฏิบัติตามหลักการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีใครสามารถทำให้สิ่งที่ต้องการจะเป็นสอดคล้องกับสิ่งที่เป็นอยู่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ อย่างไรก็ดีเราสามารถเตือนตัวเองเรื่องค่านิยมและลงมือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ

  1. ฝึกการสร้างและรักษาความมุ่งมั่นของตัวเอง

BUDSlogcarry
สิ่งเดียวที่มนุษย์ทุกคนมีเหมือนกัน คือ ความสามารถในการรักษาและไม่รักษาคำพูดของตัวเองธอม เชีย อดีตหน่วยซีลของกองทัพเรือสหรัฐฯ กล่าว การฝึกของหน่วยซีล เช่น ลองนึกภาพทีมที่หมดแรงต้องมาฝึกยกเรือ มีโอกาสมากที่พวกเขาจะทำตามคำพูดของตนเอง

ทหารในหน่วยซีลของกองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็น 1 ในการฝึกที่โหดร้ายที่สุดในโลกทั้งทางร่างกายและจิตใจ จะได้รับโอกาสในการสร้างและรักษาความมุ่งมั่นของตัวเองอย่างมากมาย ทอม เชีย อดีตหน่วยซีล ที่ปัจจุบันเป็นผู้บริหารขององค์กรฝึกอบรมผู้นำ อันดามันทีน อัลไลอันซ์ กล่าวว่า “สิ่งเดียวที่มนุษย์ทุกคนมีเหมือนกัน คือ ความสามารถในการรักษาและไม่รักษาคำพูดของตัวเอง [1]  เราสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจตัวเองจากการสร้างและรักษาความมุ่งมั่นของตัวเอง ถ้าเราไม่เชื่อใจตัวเอง ก็ยากที่จะทำให้คนอื่นเชื่อใจเรา

เชีย มอบหมายงานเล็กๆให้กับลูกค้าที่เป็นผู้บริหารและนักกีฬาทำ ด้วยการท้าให้พวกเขาสควอช วิดพื้นและซิทอัพอย่างละ 5 ครั้งก่อนเข้านอนและหลังตื่นนอนติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน การออกกำลังการเล็กๆน้อยๆนี้ เห็นได้ชัดว่าไม่ได้เกี่ยวกับการมีรูปร่างสมส่วน ไม่มีใครมีซิกแพ็ค หรือหุ่นแบบทหารหน่วยซีล แต่เป็นเครื่องมือสร้างวินัยทางใจในตัวเอง โดยการเปรียบอัตตาเหมือนกับกล้ามเนื้อที่จะแข็งแรงได้ก็ต้องฝึกอย่างมีวินัย (ทั้งนี้ จากลูกค้าราว 150 คนที่เขามอบงานนี้ให้ทำ มีเพียง 11 คนเท่านั้นที่ทำได้)

เชียสรุปวัฒนธรรมของหน่วยซีลไว้ 2 ข้อ คือ รักษาคำพูดและไม่ยอมแพ้ การให้คำมั่นสัญญากับตัวเองและทำตามเป็นผลให้คำพูดสอดคล้องกับการกระทำ ทำให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วน หรือเอกภาพ ในหนังสือพลานุภาพแห่งความไว้วางใจ สตีเฟน เอ็ม.อาร์. โควีย์ พูดถึง 4 เคล็ดลับสร้างความซื่อสัตย์ด้วยการให้คำมั่นสัญญากับตัวเอง

  1. เขาเตือนไม่ให้มีคำมั่นสัญญาหลายข้อ เราอาจมีเป้าหมายหลายข้อในชีวิต แต่คำมั่นสัญญามีความสำคัญมากกว่าเป้าหมาย และต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบก่อนลงมือทำ เลือกคำสัญญาที่มีความสำคัญกับคุณมาก หรือช่วยให้คุณฝึกฝนตัวเอง เหมือนที่เชียทำกับลูกค้าของเขา
  2. ให้น้ำหนักคำสัญญาส่วนตัวเท่ากับคำสัญญาที่คุณให้กับคนอื่น อย่าคิดว่าสามารถเพิกเฉยคำสัญญาส่วนตัวได้เพียงเพราะไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับใคร เพระไม่ฉะนั้น คุณจะไม่มีความไว้วางใจในตัวเอง
  3. อย่าทำอะไรหุนหันพลันแล่น หรือในเวลาที่มีสิ่งเร้า เพราะเราอาจทำลงไปแบบไม่สมเหตุสมผล เช่น ทานอาหารมื้อใหญ่ แล้วพูดอย่างมุทะลุว่า “ฉันจะไม่กินมื้อใหญ่อีกต่อไปแล้ว” เรารู้ว่าไม่ใช่เรื่องที่จะตั้งคำสัญญาแบบนั้น เก็บคำมั่นสัญญาไว้สำหรับเรื่องที่ใหญ่และสำคัญจริงๆ
  4. เมื่อคำมั่นสัญญากลายเป็นเรื่องยากที่จะรักษา ซึ่งส่วนใหญ่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้ปรับพฤติกรรมของคุณเพื่อให้เป็นไปตามพันธสัญญาดีกว่าลดคุณค่าเพื่อให้ตรงกับพฤติกรรม ต้องใช้เวลาและความพยายามในการเขียนปณิธานชีวิต ขณะที่คำสัญญาส่วนตัวก็สร้างและรักษาได้ยาก เราจำเป็นต้องใช้นิสัย “อ่อนน้อมถ่อมตน” เพื่อยอมรับความล้มเหลวและ “ความกล้าหาญ” ในการก้าวไปข้างหน้า แต่รางวัลที่ในตอนท้ายได้ คือ ความซื่อสัตย์ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ความเชื่อใจในตัวเองและระดับความไว้วางใจที่คนอื่นมีต่อตัวเราเพิ่มสูงขึ้นไป

 

แปลและเรียบเรียง : อาริยะ ชิตวงค์

Copyright © 2017 by Robert Cummings All rights reserved.

[1] Thom Shea, interview with Richard Rierson, Dose of Leadership podcast, 24 February 2017.

Leave a Reply