ฤาวัฒนธรรมจะมีอิทธิพลต่อเหตุผลของคุณ?

วัฒนธรรมแบบกลุ่มนิยมและวัฒนธรรมแบบปัจเจกชนมองโลกแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เปรียบเหมือนเลนส์ไวด์กับเลนส์เทเล ผู้นำที่ดีจะใช้ประโยชน์จากมุมมองที่ต่างกันของลูกทีมเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยม

No comments
3d-gif-animated-aquarium
ที่มา

คุณจะอธิบายฉากข้างบนนี้ว่าอย่างไร? ให้คุณใช้เวลาสักครู่พูดบรรยายฉากดังกล่าวสัก 2-3 ประโยค หรือเขียนข้อสังเกตลงบนกระดาษก็ได้

ในการบรรยายของคุณ คุณเน้นไปที่การเห็นปลาว่ายน้ำหรือเปล่า? คุณพูดถึงสิ่งที่อยู่รอบข้างกี่อย่าง? ในปี 2544 นักจิตวิทยาสังคม ริชาร์ด นิสเบตต์ และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ทาคาฮิโกะ มัสซึดะ ให้นักศึกษาชาวอเมริกันและญี่ปุ่นดูวิดีโอปลาว่ายน้ำ 20 วินาที แล้วเขียนถึงสิ่งที่เห็นหลังจากนั้น วิดีโอทั้งหมดประกอบด้วยปลา “ที่อยู่ในโฟกัส” ซึ่งมีขนาดใหญ่ หรือมีการเคลื่อนไหวมากกว่า นอกจากนี้ยังมีปลาที่เป็นแบ็คกราวนด์ และวัตถุอื่นๆ เช่น หิน หรือต้นไม้ ทั้งนี้ นักศึกษาชาวญี่ปุ่นเห็นรายละเอียดตามบริบท อย่าง ปลาหรือวัตถุที่เป็นแบ็คกราวนด์มากกว่านักศึกษาชาวอเมริกัน 65% หรือพูดได้ว่า นักศึกษาชาวญี่ปุ่นมีมุมมองแบบองค์รวมมากกว่า เมื่อเทียบกับนักศึกษาชาวอเมริกันที่ให้ความสำคัญกับวัตถุเป็นหลัก อย่างไรก็ดี มีการหักมุมที่น่าสนใจ เมื่อให้นักศึกษาทั้ง 2 กลุ่มดูภาพปลาหลายชนิดบนพื้นหลังแบบเดียวกัน พื้นหลังสีขาว และพื้นหลังที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แล้วถามว่าอยู่ในวิดีโอข้างต้นหรือเปล่า ผลลัพธ์ที่ได้ปรากฏว่านักศึกษาชาวอเมริกันสามารถระบุชนิดของปลาได้ถูกต้องมากกว่านักศึกษาชาวญี่ปุ่นเมื่อมีการเปลี่ยนพื้นหลัง ประเด็น คือ ไม่มีวิธีการมองโลกใด ไม่ว่าจะเป็นแบบองค์รวม หรือแบบเน้นเฉพาะส่วน ดีกว่าอีกแบบหนึ่ง แต่มีความเป็นไปได้สูงที่วัฒนธรรมมีผลอย่างสำคัญต่อวิธีการประมวลผลข้อมูลที่เป็นภาพและวิธีการใช้เหตุผลของเรา ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ผู้นำทุกคนควรตระหนักและปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ

ในภาพยนตร์ตลก What About Bob? ตัวละครบ๊อบ ซึ่งเกือบพิการ ตื่นตระหนก เป็นโรคหวาดระแวงกลัวทุกสิ่งทุกอย่าง และรับบทโดยบิลล์ เมอร์เรย์นั้น อธิบายเหตุผลที่เขาหย่าให้กับนักจิตวิทยาฟังได้อย่างไม่น่าเชื่อว่า “โลกนี้มีคน 2 ประเภท คือ คนที่ชอบกับคนที่ไม่ชอบนีล ไดมอนด์ และอดีตภรรยาของผมคลั่งไคล้หมอนี้มาก”

bob-copy
ที่มา

การแบ่งโลกออกเป็นกลุ่มคนที่เกลียด หรือรักนักร้องเพลงป๊อบ อาจจะไม่มีประโยชน์มากนักในการอธิบายความเป็นจริง แต่ผู้เชี่ยวชาญค้นพบว่ามีประโยชน์ในการวิเคราะห์วัฒนธรรมโดยการแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ วัฒนธรรมแบบกลุ่มนิยม และวัฒนธรรมแบบปัจเจกชน วัฒนธรรมเป็นแนวคิดที่ซับซ้อนมาก และการแบ่งออกเป็น  2 กลุ่มข้างต้นอาจไม่สามารถเข้าใจความแตกต่างของวัฒนธรรมได้อย่างแท้จริง แต่มีประโยชน์ในการทำความเข้าใจและรู้จักวิธีทำงานให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด มีข้อยกเว้นบางประการ คือ วัฒนธรรมทางตะวันตกมีแนวโน้มจะเป็นปัจเจกชน ขณะที่ประเทศในภูมิภาคอื่น รวมถึงเอเชีย มักจะมีวัฒนธรรมแบบ กลุ่มนิยม นักสังคมวิทยา กีร์ท ฮอฟสตีด อธิบายความแตกต่างระหว่างปัจเจกชนและกลุ่มนิยมไว้ในหนังสือ Cultures and Organizations: Software of the Mind ของเขาว่า “ปัจเจกชน” เป็นสังคมที่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหลวม กล่าวคือ ทุกคนต้องดูแลตัวเองและครอบครัว ตรงกันข้ามกับ “กลุ่มนิยม” ที่เป็นสังคมซึ่งผู้คนจะรวมตัวเป็นกลุ่มที่เข้มแข็งตั้งแต่เกิด และจะดูแลซึ่งกันและกันตลอดอายุของพวกเขาเพื่อแลกกับความจงรักภักดีแบบไร้ข้อกังขา ในแต่ละวัฒนธรรมอาจมีทั้งสังคมที่บุคคลมีความเป็นส่วนตัวสูงและสังคมที่ประกอบด้วยคนที่เห็นแก่ส่วนรวมเป็นหลัก มีการศึกษาและบทความเกี่ยวกับประเด็นนี้เป็นจำนวนมาก เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ตารางต่อไปนี้สรุปความแตกต่างของวัฒนธรรมทั้ง 2 ประเภท

กลุ่มนิยม ปัจเจกชน
รับรู้โลกกว้าง หรือเรียกว่าองค์ความรู้แบบองค์รวม มุ่งเน้นไปที่วัตถุและคุณสมบัติของมัน เรียกว่าองค์ความรู้แบบจัดหมวดหมู่
เหตุผลในแง่ของความสัมพันธ์และความคล้ายคลึงกัน เหตุผลตามกฏและประเภท
นิยามตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม นิยามตัวเองว่าเป็นปัจเจกบุคคล
ให้ความสำคัญกับเป้าหมายของกลุ่ม เป้าหมายของตัวเองสำคัญที่สุด
มุ่งเน้นที่บริบทมากกว่าเนื้อหาในการกำหนดลักษณะและการสื่อสาร มุ่งเน้นที่เนื้อหามากกว่าบริบทในการกำหนดลักษณะและการสื่อสาร
ให้ความสำคัญกับกระบวนการภายนอกในฐานะตัวกำหนดพฤติกรรมสังคม ให้ความสำคัญกับกระบวนการภายในว่าเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมสังคม
ถ่อมตัว มั่นใจในตัวเอง

คุณจะเห็นว่าประเด็นแรกเกิดจากภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่พฤติกรรมทางสังคมแบบกลุ่มนิยมหรือปัจเจกชนมีผลต่อวิธีการมองโลกของเรา เหมือนกับที่มีผลกับวิธีที่นักศึกษาชาวญี่ปุ่น (วัฒนธรรมแบบกลุ่มนิยม) และนักศึกษาชาวอเมริกัน (วัฒนธรรมแบบปัจเจกชน) มองปลาในวิดีโอในตัวอย่างตอนต้น ต่อไปนี้คือกิจกรรมที่น่าสนใจที่คุณจะลองกับตัวเอง หรือทีมงานก็ได้ เพื่อทำความเข้าใจวิธีการคิดของคุณและเช็คดูว่ามีภูมิหลังทางวัฒนธรรมด้านใดที่ส่งผลต่อวิธีคิดดังกล่าว ใช้เวลาสักครู่เพื่อดูภาพและเลือกคำตอบในแต่ละคำถาม

TriadTestไทย1

TriadTestไทย2

TriadTestไทย3

TriadTestไทย4

TriadTestไทย5

TriadTestไทย6

TriadTestไทย7

สำหรับวิธีการนี้ ซึ่งให้ผู้ร่วมตอบแบบสอบถามเลือกสิ่งที่พวกเขาคิดว่ามีความคล้ายคลึงหรือเกี่ยวข้องกัน เป็นวิธีหนึ่งที่จะเข้าใจวิธีคิดของผู้คน ในคำถาม 3 ข้อแรกนักวิจัยใช้วิธีที่เรียกว่า “การทดสอบแบบสามชุด” เพื่อดูว่าผู้ตอบแบบสอบถามมีแนวโน้มจะนึกถึงข้อมูลที่กำลังจะได้รับ ด้วยการพุ่งความสนใจไปที่ลักษณะเฉพาะของสิ่งของแล้วจึงจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ (ซึ่งเราจะเรียกว่า องค์ความรู้แบบจัดหมวดหมู่) หรือเน้นไปที่ความสัมพันธ์และความคล้ายคลึงกันของสิ่งของ (ซึ่งเราจะเรียกว่า องค์ความรู้แบบองค์รวม) ปี 2547 จากการที่ทีมวิจัยในประเทศโดมินิกัน รีพับลิคได้ให้ผู้ตอบแบบสอบถามอธิบายเหตุผลในการเลือกของพวกเขา ทำให้ค้นพบองค์ความรู้ประเภทที่สาม คือ องค์ความรู้“ตามหน้าที่” ซึ่งช่วยอธิบายผลการวิจัยบางส่วนที่ได้ องค์ความรู้ตามหน้าที่ คือ การผู้ตอบแบบสอบถามมองวัตถุที่มีความเกี่ยวข้องกับตัวเองแล้วประเมินประโยชน์ของวัตถุนั้น ทั้งนี้ องค์ความรู้ตามหน้าที่มีความเกี่ยวข้องกับองค์ความรู้แบบองค์รวมและมีแนวโน้มที่จะเห็นได้ในสังคมแบบกลุ่มนิยม

ภาพทั้งหมดถูกออกแบบมาให้เป็นคู่วัตถุที่สามารถจัดประเภทได้จากคุณลักษณะเฉพาะที่คล้ายกัน หรือมีร่วมกัน และทำให้แตกต่างจากวัตถุอื่นๆ กับคู่ของวัตถุที่มีความสัมพันธ์และคล้ายคลึงกัน ตัวอย่างเช่น ภาพชุดแรกที่มีรถไฟ รถบัส และรางรถไฟ รถไฟและรถบัสมีคุณลักษณะเฉพาะเหมือนกัน คือ เป็นยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยล้อ ซึ่งทำให้ทั้งสองแตกต่างจากรางรถไฟอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี รถไฟและรางก็มีความสัมพันธ์กัน นั่นคือ รถไฟต้องใช้รางในการขับเคลื่อน

สรุปประเภทขององค์ความรู้ หรือวิธีการให้เหตุผลของคำตอบข้างบน :

ที – การจัดหมวดหมู่ คือ การจัดเรียงสิ่งต่างๆโดยการวิเคราะห์และกำหนดหมวดหมู่ ในการจำแนกประเภท (เชิงวิเคราะห์) แบบอนุกรมวิธาน ผู้คนจะพุ่งความสนใจไปที่วัตถุกลางและคุณลักษณะของมัน แล้วจึงให้เหตุผลตามประเภทและกฏ

เอช – องค์รวม การจัดหมวดหมู่แบบองค์รวม (ความคิด) เน้นความสัมพันธ์และความคล้ายคลึงกันของวัตถุและเหตุการณ์ตามการรับรู้และแนวคิดแบบกว้างๆ

เอฟ – ตามหน้าที่ อ้างถึงตัวเองและเหตุผลเฉพาะที่เป็นประโยชน์กับตัวเองหรือครอบครัว เช่น การหาวัตถุ 2 ชิ้นที่มีประโยชน์กับตัวเอง

ความหมายของคำตอบในแต่ละคำถาม :

1 ที – รถไฟ, รถบัส เอช – รถไฟ, ราง
2 ที – ถุงมือ, ผ้าพันคอ เอช – ถุงมือ, มือ
3 ที – ลิง, หมีแพนดา เอช – ลิง, กล้วย
4 ที – หมา, กระต่าย เอช – กระต่าย, แครอท เอฟ – หมา, แครอท
5 ที – งู, แพะ เอช – งู, ไข่ เอฟ – แพะ, ไข่
6 ที – ผึ้ง, วัว เอช – ผึ้ง, น้ำผึ้ง เอฟ – น้ำผึ้ง, วัว
7 ที – หญ้า, เมล็ดกาแฟ เอช – วัว, หญ้า เอฟ – วัว, เมล็ดกาแฟ
8 ที – ม้า, แมว เอช – แมว, นม เอฟ – ม้า, นม
9 ที – ท่อนไม้ เอช – ค้อน เปิดกว้างสำหรับการตีความ ขวาน หรือเลื่อย

สำหรับคำอธิบายเพิ่มเติม โปรดดูคำตอบของชาวโดมินิกัน รีพับลิคในการศึกษาของบราวน์, แมคโดนัลด์ และโรมัน ซึ่งใช้ตัวอย่างในคำถามข้อที่ 4-8

รูปแบบความรู้ความเข้าใจ การจับคู่ คำตอบ
องค์ความรู้ตามหน้าที่ หมา-แครอท หมาช่วยคนเฝ้าแครอท ซึ่งเป็นอาหารของฉัน
องค์ความรู้ตามหน้าที่ แครอท-กระต่าย กระต่ายสามารถเป็นอาหารของคุณ ใน๘ระที่แครอทเป็นพืชที่ให้สารอาหารแก่คุณ
องค์ความรู้ตามหน้าที่ ไข่-แพะ ไข่เป็นอาหาร ส่วนแพะผลิตนมให้ลูกของฉันดื่มได้
องค์ความรู้ตามหน้าที่ ม้า-นม ฉันสามารถขี่ม้าและสามารถดื่มนมได้
องค์ความรู้แบบองค์รวม กระต่าย-แครอท กระต่ายกินแครอท
องค์ความรู้แบบองค์รวม ผึ้ง-วัว ผึ้งผลิตน้ำผึ้งและวัวผลิตนม
องค์ความรู้แบบองค์รวม วัว-หญ้า วัวกินหญ้าเป็นอาหาร
องค์ความรู้แบบองค์รวม วัว-นม นมเป็นอาหารของแมว
องค์ความรู้แบบการจัดหมวดหมู่ แพะ-งู แพะและงูอาศัยในถิ่นที่อยู่เดียวกัน
องค์ความรู้แบบการจัดหมวดหมู่ ม้า-แมว ทั้งสองเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและมีสี่ขา
องค์ความรู้แบบการจัดหมวดหมู่ แพะ-งู ทั้งสองเป็นสัตว์เหมือนกัน

การใช้ประโยชน์

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ “ชาวตะวันตก” และคนเอเชียจะคิดต่างกันในแง่ของบริบททางวัฒนธรรม ความคิดของสังคมแบบปัจเจกชนกับความคิดของสังคมแบบกลุ่มนิยมสามารถเห็นและเข้าใจได้ง่าย อย่างไรก็ดี การยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง รวมถึงวิธีการมองสังคมของผู้คนนั้นเป็นสิ่งใหม่และน่าคิด ดร. นิสเบตต์ เจ้าของงานทดลองวิดีโอปลา เปรียบเทียบความคิดที่แตกต่างกันของผู้คนเหมือนเลนส์ไวด์ (หรือผมควรจะเรียกว่าเลนส์ตาปลามั๊ย?) กับเลนส์เทเลของกล้องถ่ายรูป แนวความคิดแบบองค์รวมกับวัฒนธรรมแบบกลุ่มนิยมมีความเหมือนกันในเรื่องของการให้ความสำคัญกับภาพใหญ่ มุมกว้าง ซึ่งการแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ทั้งหมดของสิ่งต่างๆ ทำให้มองเห็นรายละเอียดยากขึ้น ในทางกลับกัน แนวคิดแบบจัดหมวดหมู่เน้นหนักที่รายละเอียด ด้วยการจำแนกสิ่งต่างๆออกเป็นส่วนๆ แต่การโฟกัสที่มากเกินไปอาจทำให้ไม่สามารถเก็บภาพมุมกว้างได้ มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับแนวคิดตะวันตกเรื่องการศึกษาระดับสูง คือ การขยายรายละเอียดเพิ่มมากขึ้น ยิ่งเรียนสูงขึ้น ก็จะยิ่งค้นคว้าลงลึกรายละเอียดในสาขาหรือความรู้ที่แคบลง

IMG_7786
เลนส์ไวด์สามารถถ่ายภาพใหญ่ ที่สามารถอธิบายความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆได้

 

IMG_7703
เลนส์เทเลสามารถโฟกัสรายละเอียดที่แทบจะไม่ได้เห็นจากเลนส์ไวด์

ในที่ทำงานและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ผู้นำจำเป็นต้องมีทั้งสองมุมมอง ผมมีความสุขกับการถ่ายรูปด้วยอุปกรณ์พื้นฐานง่ายๆ (นอกเหนือจากไอโฟน) ผมมีเลนส์ไวด์ (10-22มม.) และเลนส์เทเลขนาดกลาง (55-250 มม.)  ด้วยอุปกรณ์ดังกล่าว ทำให้ผมถ่ายภาพวัตถุเดียวกันได้ในมุมมองที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับเลนส์ที่ใช้ ในทำนองเดียวกันผู้นำของทีมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมจะได้ประโยชน์จากมุมมองของสมาชิกจากทั้งวัฒนธรรมแบบกลุ่มนิยมและวัฒนธรรมแบบปัจเจกชน พวกเขาสามารถแนะนำหรือโค้ชผู้ที่มีความคิดแบบจัดหมวดหมู่ให้ลองใช้เลนส์ไวด์เพื่อเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆในภาพใหญ่ ขณะเดียวกันก็สามารถกระตุ้นให้ผู้ที่มีความคิดแบบองค์รวมเน้นความสำคัญในเรื่องรายละเอียด ทั้งนี้ ด้วยมุมมองที่แตกต่างกันในทีมจะช่วยเสริมกันและส่งผลให้การทำงานร่วมกันราบรื่น

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในปี 2540 เรื่องผลผลิตที่สัมพันธ์กันของทีมขนาดเล็ก 800 ทีม ซึ่งสมาชิกมาจากวัฒนธรรมเดี่ยวและวัฒนธรรมผสม กราฟนี้แสดงการกระจายตัวของประสิทธิภาพในการทำงานตามองค์ประกอบของทีม

CrossCulture Team Effectiveness

 

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มข้ามวัฒนธรรมที่มีมุมมองแตกต่างกัน ทำงานมีศักยภาพมากกว่ากลุ่มที่ยึดติดอยู่กับกรอบแนวคิดแบบวัฒนธรรมเดียว แต่ความสำเร็จเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้นำรู้จักใช้ประโยชน์จากความแตกต่างและทำให้ทีมร่วมมือกันทำงานให้บรรลุเป้าหมายได้เท่านั้น อย่างไรก็ดี กลุ่มข้ามวัฒนธรรมเองก็มีโอกาสที่มีศักยภาพในการทำงานต่ำได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสมาชิกไม่ยอมรับหรือไม่ยอมทำความเข้าใจมุมมองที่แตกต่าง แน่นอนว่าในทุกวัฒนธรรมอาจมีสมาชิกที่มีแนวคิดแบบองค์รวมหรือแนวคิดแบบจัดหมวดหมู่มากกว่าอีกแบบหนึ่ง ขึ้นอยู่กับการศึกษา ครอบครัวและปัจจัยอื่น ผู้นำที่ดีจะทำความรู้จักลูกทีมของตัวเองเพื่อเข้าใจมุมมองตลอดจนวิธีการให้เหตุผล และโค้ชพวกเขาให้ทำงานได้ดีขึ้น

[1] The five examples in questions 4-8 are taken from a study of Dominican Republican subjects, and published by Jill Brown, Colin A. McDonald, and Fabiola Roman in their article titled “’The dog and the carrot are both useful to me’: Functional, Self-Referent Categorization in Rural Contexts of Scarcity in the Dominican Republic,” International Perspectives in Psychology: Research, Practice, Consultation 2014, Vol. 3, No. 2, 63-75.

[2] Adler, Nancy. International Dimensions of Organizational Behavior, 3rd ed. and Martin J. Gannon, Cultural Metaphors: Applications and Exercises, retrieved at http://faculty.csusm.edu/mgannon/docs/CULTURALMETAPHORS.pdf

แปลและเรียบเรียง : อาริยะ ชิตวงค์

Copyright © 2017 by Robert Cummings All rights reserved.

Leave a Reply