สำหรับคนที่เชื่อใจคุณ พวกเขาต้องเข้าใจว่าคุณมีเจตนาดี ในการวิเคราะห์ส่วนประกอบของความไว้วางใจนั้น บุคลิกประกอบด้วยความซื่อตรงและเจตนา ส่วนความเชี่ยวชาญประกอบด้วยความสามารถและผลลัพธ์ โดยเจตนาสร้างลำต้นของต้นไม้ ที่โผล่ขึ้นมาจากรากใต้ดินและแม้บางส่วนยังซ่อนอยู่ใต้ดิน แต่ส่วนที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนเหนือพื้นดินจะสนับสนุนส่วนประกอบของความเชี่ยวชาญ
จากมุมมองของคนอื่น พฤติกรรมมองเห็นได้แต่ความตั้งใจส่วนใหญ่จะมองไม่เห็น ดังนั้นผู้คนมักจะตัดสินพฤติกรรมของเราและตีความตามเจตนาที่พวกเขาคิดว่าเรามี เมื่อพฤติกรรมของเราไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง พวกเขาอาจคิดว่าเรามีเจตนาไม่ดีได้อย่างง่ายดาย แต่ก็อาจมีคนไม่มากเชื่อว่าเราเคยมีเจตนาร้าย โซโลมอน นักปราชญ์ชาวยิวในยุคโบราณพบข้อสังเกตนี้เมื่อเขากล่าวว่า “มนุษย์สะอาดในทุกทางในมุมมองของตัวเอง แต่พระเจ้าทรงตัดสินจากแรงจูงใจ”
คำกล่าวซึ่งบันทึกไว้ที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2428 อธิบายว่า “ไม่แปลกที่เราประเมินค่าตัวเองสูงเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น เราตัดสินคนอื่นจากการกระทำของเขา แต่สำหรับตัวเองจากเจตนาของเรา”[1] ไม่ว่าคนอื่นจะตัดสินเจตนาของเราอย่างยุติธรรมหรือไม่ หรือเรามีความตั้งใจจริงตามที่เราคิดไว้หรือเปล่า เจตนายังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญของความไว้วางใจ โชคดีที่มีวิธีปรับปรุงเจตนาของเราและสื่อสารออกไปเพื่อเพิ่มระดับความไว้วางใจในฐานะผู้นำให้สูงขึ้นได้
บทบาทของเจตนาต่อความไว้วางใจ
การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อปีที่แล้วได้รับความสนใจอย่างท่วมท้น เมื่อ เจมส์ โคมีย์ ผู้อำนายการเอฟบีไอ ออกมาประกาศเรื่องการสอบสวนการใช้งานเซิร์ฟเวอร์อีเมล์ส่วนตัวของฮิลลารี่ คลินตัน ผู้สมัครชิงประธานาธิบดีขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ โคมีย์ กล่าวว่า “แม้จะมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าอาจมีการละเมิดกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการข้อมูลลับ การตัดสินใจของเรา คือไม่มีผู้ฟ้องร้องที่มีเหตุผลมากพอจะนำคดีขึ้นมาพิจารณา อย่างไรก็ดีมีข้อควรพิจารณาที่ชัดเจน เช่น ความหนักแน่นของหลักฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับเจตนา” หรือกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า ผู้อำนวยการโคมีย์ กล่าวว่า พฤติกรรมของคลินตันอาจจะได้รับการให้อภัยเนื่องจากมีเจตนาดี สำหรับคู่แข่งทางการเมืองของคลินตัน เรื่องนี้ไม่ค่อยดีนัก หลายคนมองว่าการกระทำของคลินตันมีเจตนาไม่ดีและคัดค้านการไม่ตั้งข้อหาใดๆเลย
หลังประกาศดังกล่าว ผลสำรวจของเอบีซี/วอชิงตัน โพสต์ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 56% ไม่เห็นด้วยกับเอฟบีไอ ขณะที่บางคนสงสัยว่า โคมีย์เองมีเจตนาแอบแฝง ซึ่งน่าจะมีผลต่อความไว้วางใจต่อเอฟบีไอ ผลสำรวจในเดือนธันวาคม 2559 พบว่า ผู้ใหญ่เกือบ 32% มีความมั่นใจในเอฟบีไอเป็นอย่างมาก /ปานกลาง ความไว้วางใจต่อเอฟบีไอที่ลดลงเป็นไปตามความเข้าใจของประชาชนต่อเจตนารมณ์ของเอฟบีไอ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสื่อมวลชนด้วย ไม่นานหลังการประกาศของเอฟบีไอ กัลลัฟเปิดเผยผลสำรวจที่ระบุว่า ความเชื่อมั่นของ“ชาวอเมริกัน ต่อสื่อมวลชนลดลงสู่ระดับต่ำสุด” โดยมีปัจจัยหลัก คือความเชื่อมั่นในสื่อของกลุ่มผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกัน (ซึ่งส่วนใหญ่ต่อต้านฮิลลารี่) ลดลงจาก 32% เหลือเพียง 14% ภายในแค่ปีเดียว ทำไม? เพราะพวกเขาส่วนใหญ่มองว่าสื่อมีเจตนาไม่ดี และรู้สึกว่าผู้สื่อข่าวจำนวนมากต้องการหนุนคลินตันและให้ร้ายผู้สมัครของพรรค ซึ่งรวมไปถึงการสอบสวนของเอฟบีไอด้วย
อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่า ฮิลลารี่ คลินตัน มีเจตนาไม่ดีเรื่องเซิร์ฟเวอร์ส่วนตัว หรือนักข่าวตั้งใจรายงานข่าวที่ลำเอียง ประเด็น คือ การเข้าใจเจตนาของกลุ่มที่ถูกมองว่ามีเจตนาลบ จะส่งผลให้เกิดการขาดความไว้วางใจ

ที่มา : Getty Images
เราสามารถทำความเข้าใจสิ่งที่เราหมายถึง “เจตนา” ด้วยการดูคำนิยามในกฎหมายอาญา แต่ประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน ศาลจะพิจารณาทั้งเจตนาและการกระทำเมื่อสอบสวนคดีอาชญากรรม ผลที่ตามมาจากการกระทำของบุคคล เช่น การมีคนที่ได้รับบาดเจ็บจากการโจรกรรม จะถูกตัดสินว่ามีเจตนาทำความผิด หากผู้ต้องสงสัยคาดการณ์ถึงผลที่จะเกิดตามมา และต้องการให้การโจรกรรมเกิดขึ้น
เจตนาสามารถแบ่งเป็นเจตนาแบบประสงค์ต่อผล ซึ่งหมายความว่าการที่คนคนหนึ่งมุ่งมั่นให้เกิดผลจากการกระทำ และเจตนาแบบเล็งเห็นผล คือผลที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการกระทำโดยสมัครใจที่เราสามารถคาดการณ์ได้ เจตนาที่อยู่เบื้องหลังการกระทำของเราเองไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคดีอาญา (เราหวังว่า) ก็สามารถแบ่งออกได้ในลักษณะเดียวกัน มนุษย์ซึ่งแตกต่างจากสัตว์ที่ขับเคลื่อนด้วยแรงกระตุ้นและการตอบสนองแบบง่ายๆนั้น มีความสามารถในการคาดการณ์ตัวเองและการกระทำในอนาคตโดยคำนึงถึงผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ จากการพิจารณาอย่างรอบคอบเราต้องการให้การกระทำของเราสำเร็จลุล่วง
แต่น่าเสียดายที่เราอาจไม่ได้รับผลอย่างที่เราต้องการเสมอไป เหมือนคำพูดที่ว่า “ถนนสู่นรกปูด้วยเจตนาดี” ซึ่งหมายความว่า เรามีเจตนาที่ดีเลิศ แต่การกระทำจากเจตนาเหล่านั้นอาจไม่ได้รับผลอย่างที่ต้องการ บางคนพยายามประยุกต์ใช้ข้อความข้างต้นกับโครงการของภาครัฐ เช่น ความพยายามขจัดความยากจน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้กลับตรงข้าม ในระดับบุคคล หลายคนที่มีเพื่อนหรือคนในครอบครัวที่มีปัญหาด้านการเสพติด ต่างมีประสบการณ์เรื่องความตั้งใจดีที่นำไปสู่ผลลัพธ์แย่
ไม่ว่าจะโดยการละเว้นคำพูด หรือการกระทำที่ไม่เคารพความเป็นส่วนตัว หรือโดยการพยายามเข้าไปบังคับให้คนที่เสพติดกระทำบางอย่าง เจตนาดีอาจทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้อย่างง่ายดาย สตีเฟน เอ็ม.อาร์. โควีย์ พูดไว้ในหนังสือของเขา พลานุภาพแห่งความไว้วางใจ ว่าแรงจูงใจในการดูแลเอาใจใส่อย่างแท้จริงเป็นการสร้างความไว้วางใจที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด หลักการทดสอบผู้นำที่ดีอย่างง่ายอันหนึ่ง คือ ผู้นำคนที่ถามว่า “วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง?” แล้วตั้งใจฟังและใส่ใจกับคำตอบจริงๆ แต่คำพูดเรื่องเจตนาดีและถนนสู่นรกย้ำเตือนเราว่า แรงจูงใจในการดูแลเอาใจใส่อย่างแท้จริงต้องให้ความสนใจกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง เมื่อผู้นำตั้งใจฟังคำตอบของผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถดูได้จากการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นคำพูดที่ห่วงใย หรือความช่วยเหลือที่แท้จริงในการจัดการปัญหา เราไม่เตรียมถนนไปสู่นรกอีกต่อไปแต่ปรับปรุงแต่ละบุคคลให้ดีขึ้น ด้วยการพิจารณาทุกผลลัพธ์ของการกระทำที่เกิดจากการความตั้งใจอย่างถี่ถ้วน

อีกมุมมองที่พูดถึงความเชื่อมโยงระหว่างความตั้งใจกับความไว้วางใจ คือ แนวคิดเรื่อง “เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่าทำไม” ของไซมอน ซิเน็ค ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวข้อที่มียอดวิวมากที่สุดของรายการ TED talks (บันทึกรายการเมื่อเดือนกันยายน 2552 และปัจจุบันมียอดวิวกว่า 31 ล้านครั้ง) และมาจากหนังสือของเขา เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่าทำไม (Start with Why)โดยซิเน็ค ระบุว่า บริษัท องค์กร และบุคคลควรกระตุ้นให้คนลงมือปฏิบัติด้วยการอธิบายว่า ทำไม พวกเขาจึงต้องทำ แทนที่การอธิบายว่าพวกเราทำ อะไร หรือ อย่างไร เขาอธิบายในเชิงชีววิทยาว่า แรงจูงใจในการลงมือทำบางสิ่งบางอย่างฝังอยู่ในสมองส่วนที่ลึกกว่าสมองส่วนวิเคราะห์ (เปลือกสมอง หรือคอร์เท็กซ์) คือในส่วนของสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (ระบบลิมบิก) ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์ ความรู้สึก เช่น ความไว้วางใจ และความจงรักภักดี
ในอีกทางนึง เราทำให้ผู้คนวางใจเราด้วยการทำให้พวกเขาเข้าใจถึงเจตนาของเรา หรือที่เรียกว่าแรงจูงใจเบื้องหลังการกระทำของเรา ซิเน็คยกตัวอย่างเหตุผลที่แอปเปิลประสบความสำเร็จในการเป็นผู้นำเปลี่ยนเกมในตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เครื่องเล่นเพลงส่วนบุคคล และมือถือ ว่าเป็นเพราะแอปเปิลมุ่งมั่นท้าท้ายตลาดรูปแบบเดิม คิดต่าง และเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร ซึ่งเราเรียกสิ่งนี้ว่า เจตนาของแอปเปิล และส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าแอปเปิลเป็นตัวจริงในตลาด เป็นบริษัทที่เชื่อถือได้ เมื่อเราอธิบายว่า “ทำไม” จะทำให้ผู้คนเข้าใจค่านิยมและความเชื่อของเรา และผู้คนจะเชื่อใจคนที่มีค่านิยมและความเชื่อแบบเดียวกัน
คล้ายกับเหตุผลที่เรารู้สึกสนิทกับคนที่มาจากภูมิภาคเดียวกัน หรือทำไมเจ้าของมาสด้า มิอาตะ ตั้งสโมสรทั่วโลก เมื่อเร็วๆนี้ ผมได้พบกับคนที่มาจากรัฐอินเดียนาเหมือนผม แม้เราทั้งคู่จะอยู่ห่างจากบ้านเกินครึ่งโลกและเพิ่งเจอกัน แต่เราคุยกันถูกคอ และสัญญาณของผมบอกว่าผมเชื่อใจเพื่อนใหม่คนนี้ แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่มีค่านิยมและความเชื่อเหมือนกันจะเชื่อถือได้ แต่ปฏิกิริยาแรกที่เราแสดงออกไป คือ ไว้วางใจ ผู้คนจะไม่ให้ความไว้วางใจหากเขารู้สึกสงสัยในเจตนา แต่การอธิบายว่า “ทำไม” หรือความตั้งใจ สามารถสร้างความเชื่อถือได้

ที่มา
เริ่มต้นจากเจตนาไปสู่การลงมือทำและความไว้วางใจ
เพื่อสร้างความไว้วางใจผ่านทางเจตนา เราสามารถทำได้ 3 วิธีด้วยกัน คือ
1 ตรวจสอบเจตนาของเราเองด้วย “5 ทำไม”
ขั้นตอนแรกเพื่อให้มั่นใจว่าเจตนาของเราก่อให้เกิดความไว้วางใจ คือ การมองเข้าไปข้างใน บริษัทโตโยต้าพัฒนาวิธีวิเคราะห์สาเหตุหลักของอุบัติเหตุที่เรียกว่า “5 ทำไม” (Five Whys) หมายถึงการนำปัญหา อาทิ ความล้มเหลวของระบบไฟฟ้า และถามชุดคำถาม “ทำไม” เพื่อหาสาเหตุของปัญหา ตัวอย่างเช่น คำตอบของ “ทำไมระบบไฟฟ้าล้มเหลว” อาจจะเป็นฟิวส์ขาด หลังจากนั้นถามว่า “ทำไมฟิวส์ขาด” คำตอบที่ได้ คือ สเปคไม่ถูกต้อง แล้วถามต่อว่า “ทำไมฟิวส์ถึงผิดสเปค” และคำถามอื่นๆ ตามมาเป็นต้น จนพบสาเหตุหลักของปัญหา ถ้าถูกต้องก็ป้องกันผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้ อย่างไรก็ดี ห้าไม่ใช่ตัวเลข “มหัศจรรย์” บางกรณีอาจใช้คำถามมากน้อยแตกต่างกันไปจนกว่าจะได้สาเหตุหลัก และคุณอาจต้องถาม “ทำไม” หลายคำถามสำหรับปัญหาเดียวกัน
แม้โตโยต้ากังวลเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเรื่องสายการผลิต พวกเราสามารถใช้วิธีการเดียวกันนี้กับเจตนาของเรา ในแบบฝึกหัดนี้ สิ่งสำคัญ คือ เริ่มต้นใช้วิธี 5 ทำไมกับเจตนาของคุณเอง ไม่ใช่การแก้ปัญหา คุณสามารถใช้ 5ทำไมอีกชุดเพื่อแก้ปัญหา คุณอาจเป็นผู้นำในบริษัทให้บริการจัดหางาน และอยู่ระหว่างพิจารณาลดจำนวนลูกจ้างที่รับผิดชอบเรื่องใบสมัครงานของลูกค้า คุณอาจเริ่มต้นด้วยการถามคำถามเหล่านี้
- ทำไมฉันต้องเอาคนนี้ออก?
- อาจเป็นเพราะเธอทำงานช้ากว่าคนอื่น
- ทำไมฉันควรใช้เหตุผลเรื่องทำงานช้าในการปลดพนักงานคนนี้ออก?
- เพราะบริษัทผลประกอบการของบริษัทขึ้นอยู่กับการให้บริการลูกค้าให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และการทำงานช้าของเธอส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท
- ถ้าเจตนาของฉัน คือ เพิ่มความสามารถในการทำกำไร แล้วทำไมการให้ลูกจ้างออกจึงมีประโยชน์?
- เพราะฉันเชื่อว่าลูกจ้างที่ทำงานต่ำกว่ามาตรฐานควรจะได้รับผลจากการกระทำของพวกเขา
- ทำไมฉันคิดว่าเธอทำงานไม่ได้ตามมาตรฐานของบริษัท เธอไม่รู้เกี่ยวกับมาตรฐานของบริษัท หรือเธอไม่สามารถทำงานให้ได้ตามมาตรฐานที่ว่านี้?
ณ จุดนี้ คุณอาจต้องตรวจสอบปัญหาที่แท้จริงของการทำงานต่ำกว่ามาตราฐาน
- ทำไมเธอทำงานช้ากว่าคนอื่น?
- เพราะลูกค้าไม่ให้ความร่วมมือเธอในการทำสัญญาจ้างงาน
- ทำไมลูกค้าไม่ให้ความร่วมมือ?
- เพราะลูกค้าผู้ชายไม่เคารพตำแหน่งของเธอในฐานะผู้หญิง
ในกรณีนี้ คุณจะพบว่าอาจเป็นผลดีกว่าถ้าเปลี่ยนจากความตั้งใจจะฝึกฝนคนที่เป็นที่ทราบกันว่าทำงานไม่ได้ตามมาตรฐานไปเป็นการแก้ปัญหาการกีดกันทางเพศที่ส่งผลต่อบริษัทของคุณแทน การมุ่งเน้นไปที่เจตนาหลัก อย่าง การเคารพพนักงาน และสร้างความมั่นใจว่าบริษัทมีผลกำไร จะสร้างความไว้วางใจและหลีกเลี่ยงการตัดสินใจผิดพลาด อย่างไรก็ดี ตัวอย่างนี้ มาจากประสบการณ์ในชีวิตจริงที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ของพนักงานสองคนในบริษัทแห่งหนึ่งในเมืองฟิลาเดลเฟีย ซึ่งทำการทดลองเชิงสังคมเล็กๆน้อยๆ ด้วยการสลับลายเซ็นต์ระหว่างพนักงานหญิงและพนักงานชาย จนทำให้ค้นพบปัญหาการกีดกันทางเพศ คุณสามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ได้ที่เวบไซต์ ฮัฟฟิงตัน โพสต์
2 วางแผน เชื่อ และติดตาม
เมื่อเราตั้งใจจะทำบางสิ่งบางอย่าง เช่น การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดี บางครั้งเราไม่สามารถทำตามความตั้งใจของเราได้ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อความเชื่อใจในตัวเองรวมถึงความเชื่อใจจากคนอื่นด้วย ทีมวิจัยได้ศึกษากลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันที่อยู่ในโปรแกรมออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ โดยพบว่า ผู้ที่มีความตั้งใจและลงมือทำจริงๆ เป็นกลุ่มที่สามารถทำตามแผนการออกกำลังกายได้ ซึ่งเป็นผู้ที่เชื่อว่าพวกเขาต้องรับผิดชอบตัวเอง[2] และสามารถติดตามความคืบหน้าในการออกกำลังกายของพวกเขาเองได้
การเชื่อว่าเรามีอิทธิพลอย่างมากต่อผลลัพธ์ของความตั้งใจของเราเอง เรียกว่า การรับรู้ความสามารถของตัวเอง เป็นสิ่งสำคัญในการเติมเต็มศักยภาพของเรา เราอาจตั้งใจทำสิ่งยิ่งใหญ่หลายอย่าง หรือแม้แต่สิ่งเล็กๆ แต่เราก็เสี่ยงที่จะล้มเหลวในการลงมือทำตามเจตนาหากเรามีทัศนคติที่โทษปัจจัยภายนอกมากกว่าการเชื่ออย่างมั่นคงว่าเราเป็นผู้รับผิดชอบทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยทัศนคติที่ดีนี้ ช่วยให้เราตรวจสอบความพยายามและการทำงานของเราว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่วางแผนไว้หรือไม่
ในช่วงวัยสามสิบ ผมรู้สึกว่าปล่อยตัวมากเกินไปจนทำให้ความแข็งแรงของร่างกายลดลงต่ำกว่าระดับที่ไม่สามารถยอมรับได้ ผมตั้งใจ (ทำสัญญากับตัวเอง) ว่า จะกลับไปฟิตเหมือนเดิม วางแผนจะวิ่งมาราธอนเป็นครั้งแรกในชีวิตของผม ซึ่งถือเป็นงานที่หนักฉกรรจ์มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมตัดสินใจก่อนถึงงานมาราธอนไม่ถึง 4 เดือน แต่ผมเชื่อว่าผมทำได้ ผมเก็บสถิติจำนวนไมล์ที่วิ่งในแต่ละวันในโปรแกรมเอ็กเซล (สมัยนั้นยังไม่มีแอพพลิเคชั่นออกกำลังกาย) รวมทั้งติดตามความพยายามของตัวเอง (ฝึกซ้อมสัปดาห์ละกี่วัน) และประสิทธิภาพ (เพซดีขึ้นไหม?) ทั้งนี้ การวิ่ง 26 ไมล์ ซึ่งจบตามที่ตั้งใจไว้ ช่วยให้ผมรู้สึกเชื่อใจในตัวเองเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังแสดงให้คนอื่นเห็นว่าผมสามารถทำตามการกระทำที่ตั้งใจไว้ได้
3 สื่อสาร
สตีเฟน เอ็ม.อาร์. โควีย์ แนะนำให้ “ประกาศความตั้งใจของคุณ” เพื่อปรับปรุงเจตนาที่เป็นส่วนประกอบของความเชื่อใจ โดยเขาสังเกตว่า การสื่อสารเจตนาของคุณออกไปจะ “’ส่งผลกับพฤติกรรมของตัวคุณเอง’ เนื่องจากช่วยให้ผู้คนรู้จักสิ่งที่ควรมองหาเพื่อให้พวกเขาจำ เข้าใจ และรู้ได้ทันทีเมื่อเห็น”[3] แนวคิดนี้ของสตีเฟนเหมือนกับคำแนะนำเรื่อง “เริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่าทำไม” ของไซมอน ซิเน็ค
ในฐานะผู้นำ เราอาจต้องใช้นโยบายที่กองทหารไม่พอใจ แต่ถ้าทำให้กองทหารเชื่อใจว่าเราทำด้วยเจตนาดี พวกเขาก็จะปฏิบัติตาม การอธิบายว่า “ทำไม” ในการทำบางสิ่งบางอย่างจึงช่วยสร้างความไว้วางใจได้มากกว่าการอธิบายว่า อะไร หรือ อย่างไร
ในทางทหาร เมื่อมีการประกาศแผนการปฏิบัติการ จะมีคำว่า “เจตนารมณ์ของผู้บังคับบัญชา” เสมอ ตามประกาศอย่างเป็นทางการของกองทัพสหรัฐฯ ” เจตนารมณ์ของผู้บังคับบัญชาคือการแสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ในการปฏิบัติการและผลลัพธ์สุดท้ายทางทางหารอย่างชัดเจนและกระชับ”[4] ด้วยคำกล่าวนี้ ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการรู้และไว้วางใจวัตถุประสงค์โดยรวม และปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมั่นใจ เมื่อคุณให้ “เจตนารมณ์ของผู้บังคับบัญชา” คุณสร้างความไว้วางใจให้กับเพื่อนร่วมงานและผู้ตาม รวมทั้งปูทางด้วยเจตนาดีเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จของพวกเขา
แปลและเรียบเรียง : อาริยะ ชิตวงค์
Copyright © 2017 by Robert Cummings All rights reserved.
[1] Edward Wigglesworth. Reflections. Boston, Massachusetts: Press of George H. Ellis. P. 10. (Available on Google Books Full View)
[2] Falko F. Sniehotta, Urte Scholz, & Ralf Schwarzer, “Bridging the intention–behaviour gap: Planning, self-efficacy, and action control in the adoption and maintenance of physical exercise”
[3] Stephen M. R. Covey, The Speed of Trust, New York: Free Press, 2006, p. 87.`
[4] US Joint Chiefs of Staff (2010) Joint Publication 3-0 – Joint Operations. March 2010. Available at: https://fas.org/irp/doddir/dod/jp3_0.pdf